วิธีกระตุ้นพัฒนาการ แก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก

เด็กแต่ละวัยจะมีพัฒนาการและการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ และส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กอย่างเหมาะสม

ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการนั้น ผู้ปกครองสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นลูบหน้าท้องกระตุ้นความรู้สึก พูดคุยกับลูก อ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เป็นต้น สำหรับครอบครัวใดที่มีปัญหาลูกพัฒนาการล่าช้า ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด และเข้าปรึกษาคุณหมอถึงปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยคุณหมอจะทำการวินิจฉัยและหาวิธีแก้ไขต่อไป

พัฒนาการเด็กในแต่ละวัย

พัฒนาการในวัยเด็กเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเด็ก ๆ ในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามแต่ละช่วงวัย ช่วยให้เขามีทักษะในการใช้ชีวิต และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม ตลอดจนการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งพัฒนาการของเด็กนั้นมีด้วยกัน 4 ด้าน คือ

  1. ด้านร่างกาย
  2. ด้านสติปัญญา
  3. ด้านสังคมและอารมณ์
  4. ด้านภาษา

เด็กแรกเกิด

โดยสามารถแบ่งพัฒนาการของเด็กออกได้เป็น 6 ช่วงวัยด้วยกัน ดังนี้

พัฒนาการของทารกแรกเกิด (New Born)

ทารกแรกเกิด คือ เด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึง 1 เดือน ถือเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ทั้งของเด็ก ๆ และของผู้ปกครอง สำหรับพฤติกรรมหลักของทารกแรกเกิดจะมีเพียงแค่ 5 อย่าง คือ

  1. การกิน
  2. นอนหลับ
  3. ร้องไห้
  4. ขับถ่าย
  5. การเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ สามารถสะท้อนผ่านปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เช่น สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียง หรือ เอียงหน้าเมื่อมีคนลูบแก้ม เป็นต้น โดยปกติแล้วทารกมักรับกลิ่นได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก ในวัยนี้เขาจึงมักจะจำกลิ่นของแม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อได้ดูดนมในอ้อมกอดคุณแม่ อีกทั้งยังส่งเสียงร้องไห้เพื่อสื่อสาร ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตเสียงร้องในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการมากขึ้น

พัฒนาของเด็กทารก (Infant)

เด็กทารก คือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งพัฒนาการในวัยเด็กทารก มีดังนี้

ด้านร่างกาย ในช่วงนี้เริ่มมีการมองตามสิ่งของ หันตามเสียง หยิบจับของได้ เริ่มนั่งได้เอง พลิกคว่ำหงาย จนกระทั่งการเกาะยืนและตั้งไข่ก้าวเดิน

ด้านสติปัญญา สามารถจำใบหน้าที่คุ้นเคยได้ จดจำได้เมื่อแม่หายไป

ด้านสังคมและอารมณ์ เริ่มแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านสีหน้า และตอบสนองต่อโทนเสียงที่ต่างกัน

ด้านภาษา เลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เริ่มรู้จักชื่อของตัวเอง และตอบสนองเมื่อมีคนเรียกชื่อ อีกทั้งยังสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ได้แล้ว เช่น คำว่า “จ๋าจ้า” หรือ “หม่ำ ๆ ”

พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะ (Toddler)

เด็กวัยเตาะแตะจะอยู่ในช่วงอายุ 1-3 ปี หรือเป็นช่วงเด็กเล็ก ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบถูกบังคับ ซึ่งพัฒนาการในวัยเด็กช่วง 1-3 ปี มีดังนี้

ด้านร่างกาย ในช่วงวัยเตาะแตะนั้นเด็กจะมีพัฒนาการด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว และเริ่มทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เช่น วิ่ง เต้น กินข้าวจากช้อน ดื่มน้ำจากแก้ว ใส่เสื้อผ้าเองได้ กระโดดขึ้นลง นั่งบนเก้าอี้ และเริ่มวาดรูปทรงง่าย ๆ ได้แล้ว

ด้านสติปัญญา เริ่มเรียนรู้การใช้งานสิ่งของต่าง ๆ และเริ่มเรียนรู้คำสั่งต่าง ๆ เช่น บอกให้นั่งหรือยืน เริ่มสังเกต เลียนแบบ การแก้ปัญหาง่าย ๆ

ด้านสังคมและอารมณ์ ในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ เริ่มสำรวจพื้นที่โดยรอบ เล่นกับเพื่อนคนอื่น ๆ และรู้สึกภูมิใจเมื่อทำอะไรสำเร็จ

ด้านภาษา พัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัยเตาะแตะนั้น เริ่มเรียนรู้คำมากขึ้น สามารถถามคำถามง่าย ๆ ได้ และชอบฟังเพลงและนิทาน อีกทั้งยังเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว

พัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน (Preschool)

เด็กก่อนวัยเรียน คือ เด็กที่มีอายุช่วง 3-5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นเล็กน้อย มีพัฒนาการด้านร่างกายมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังนี้

ด้านร่างกาย ในวัยนี้เด็ก ๆ มีพัฒนาการด้านร่างกายหลายอย่าง เช่น กระโดด เตะบอล เดินถอยหลัง เริ่มเทน้ำได้แบบมีคนช่วย และสามารถเข้าห้องน้ำเองได้

ด้านสติปัญญา เด็ก ๆ จะเริ่มนับเลข จำชื่อคน ชื่อสี และสถานที่ได้มากขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจกระบวนการง่าย ๆ เช่น ต่อคิวเมื่อซื้อของ หรือแปรงฟันก่อนนอน เป็นต้น

ด้านสังคมและอารมณ์ เริ่มเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และเริ่มเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น อีกทั้งยังชอบเล่นกับเพื่อน ๆ

ด้านภาษา เริ่มสื่อสารด้วยประโยคที่ยาวขึ้น ใช้ประโยคต่าง ๆ ได้มากขึ้น และตอบคำถามง่าย ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ด้วย

พัฒนาการเด็กวัยเรียน (Middle Childhood)

เด็กวัยเรียนนั้นอยู่ในช่วงอายุ 5-12 ปี เป็นช่วงที่มีความสำคัญในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ดังนี้

ด้านร่างกาย เริ่มทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น แปรงฟัน หวีผม และร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ชายเริ่มมีหนวด และผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก เป็นต้น

ด้านสติปัญญา เด็กวัยเรียนสามารถบอกเวลา และสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือได้

ด้านสังคมและอารมณ์ ในวัยนี้เด็กเริ่มมีความสัมพันธ์และเล่นกับเพื่อนคนอื่น รวมถึงเพื่อนต่างเพศ และเริ่มมีความรู้สึกอิจฉา อีกทั้งยังมีความกดดันในบางครั้ง

ด้านภาษา มีสมาธิในการฟังและการอ่านหนังสือ อีกทั้งยังรู้จักเหตุผล และสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้

พัฒนาการเด็กวัยรุ่น (Adolescence)

เด็กวัยรุ่นจะมีอายุช่วง 12-18 ปี ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและอารมณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านร่างกาย ในช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก เช่น ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน เสียงเปลี่ยน ผู้ชายขนรักแร้เริ่มขึ้น นอกจากนี้ ทั้งน้ำหนักและส่วนสูงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้านสติปัญหา เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางครั้งอาจคิดเห็นไม่ตรงกับผู้ปกครอง และรู้ว่าความคิดเห็นของผู้ปกครองนั้นไม่ถูกเสมอไป

ด้านสังคมและอารมณ์ มีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน พร้อมทั้งต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเริ่มสนใจเรื่องความรักและเรื่องเพศ

ด้านภาษา ในช่วงวัยนี้เรียกได้ว่ามีพัฒนาการด้านภาษาที่ดี เพราะสามารถพูด อ่าน ฟัง และเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว ที่สำคัญเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้โทนเสียงที่ต่างกันไปในแต่ละโอกาสอีกด้วย