แอมเนสตี้ร้องรัฐบาลไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน “ปริญญา” ชี้เลือกตั้งไม่เปลี่ยนประเทศ เหตุติดล็อก ส.ว.
ในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกทวีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สงครามเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัว “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยได้เชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์มนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการ นำเสนอขึ้นตอนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นและพัฒนาชีวิตของผู้คนทั่วโลก
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกน่ากังวล
ฐิติรัตย์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงภาวะสองมาตรฐานที่ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกในการรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ เช่น ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย รวมไปถึงประเด็นเรื่องการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในหลายประเทศ
“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มแรงกดดันต่อบริการสุขภาพและบริการทางสังคมอื่น ๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือบุคคลชายขอบ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานเพศสภาวะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลล้มเหลวในการสนับสนุนประชาชนเนื่องจากสถานะของพวกเขาย่ำแย่ลง”
“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้อาวุธและกำลังทางการทหาร ซึ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหรือบริษัทต่าง ๆ มีผลอย่างมากต่อการละเมิด เช่นเดียวกับผลกระทบต่ออัลกอริทึมของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กระทบต่อการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ” ฐิติรัตน์กล่าว
แอมเนสตี้ยื่น 7 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาณและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงการเลือกปฏิบัติ
“สิทธิในเสรีภาพด้านการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบถูกโจมตีอีกครั้ง กฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย รวมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังไม่พอที่จะคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากเมียนมายังคงถูกจับกุม ควบคุมตัว และถูกรีดไถโดยเจ้าหน้าที่ไทยบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังตกเป็นเป้าหมายของการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในวงกว้างและถูกเลือกปฏิบัติ”